วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2555

เรื่องง่ายๆ..ในการปลูกฝังจิตสำนึกการประหยัดพลังงานในองค์กร โดยใช้การวิธีการฝึกอบรม



ในการที่จะทำให้พนักงานในองค์กรมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์หรือการประหยัดพลังงานนั้น หลายองค์กรได้มีการพยายามรณรงค์กันอย่างหลากหลายรูปแบบ เกิดความสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง บางองค์กร รณรงค์กันอย่างจริงจังอย่างต่อเนื่อง แต่พอหยุดการรณรงค์หรือหมดระยะเวลาในโครงการแล้ว ไม่นานนักพนักงานก็กลับมามีพฤติกรรมที่ไม่ประหยัดอีก อาจจะเกิดเพราะความเคยชิน หรือมองไม่เห็นความสำคัญในการประหยัดพลังงาน เพราะว่าเห็นเป็นเรื่องไกลตัวและเกิดความไม่สะดวกสบายในการทำงาน เป็นต้น
เหล่านี้ ทำให้หลายองค์กรประสบกับความล้มเหลวในการเข้าร่วมโครงการอนุรักษ์พลังงานต่างๆ ที่ภาครัฐจัดให้และเป็นการใช้งบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชนอย่างสูญเปล่า ดังนั้นบริษัท ห้างร้าน หรือองค์กรต่างๆ จึงควรรู้และเข้าใจในการฝึกอบรมพนักงานของตนเองอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ ในการปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์พลังงานอย่างยั่งยืน และทำให้เกิดการตื่นตัวที่จะช่วยกันอนุรักษ์พลังงานอย่างแท้จริงทั้งที่ทำงานและที่บ้านของตัวเอง
การฝึกอบรมคืออะไร
ก่อนอื่นถามตัวเองดูก่อนว่า ท่านเข้าใจความหมายและวัตถุประสงค์ของการอบรมแล้วหรือยัง เพราะการจัดฝึกอบรมในองค์กรส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปในการที่จะทำให้พนักงานมีความรู้และเข้าใจในสิ่งที่ ผู้จัดการฝึกอบรมหรือหัวหน้าในหน่วยงานนั้นๆหยิบยื่นให้ ไม่ได้มีการสอบถามหรือทำวิจัยว่าพนักงานในองค์กรมีความรู้ หรือต้องการที่จะอบรมในเรื่องใด หรือเกิดปัญหาอย่างไรในองค์กร ทำให้การอบรมในหน่วยงานต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชน ทำการจัดฝึกอบรมแล้วผู้ที่เข้ารับการฝึกอบรมไม่ได้นำความรู้หรือเนื้อหาที่อบรม ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ดีเท่าที่ควรแก่องค์กร หรือหลังจากการฝึกอบรมแล้วก็ละเลยไม่นำกลับมาพัฒนาองค์กรตามวัตถุประสงค์ที่ได้ส่งไปทำการอบรม ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ถ้าจัดการอบรมไม่เหมาะสมแล้ว การฝึกอบรมก็จะไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาตามเป้าหมายที่แท้จริงของการฝึกอบรม
ความหมายของการฝึกอบรม (Training) หมายถึง กระบวนการจัดการ เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เกิดประโยชน์ต่อเนื่องในหน่วยงานให้มากที่สุด โดยมีเป้าหมายให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถกระทำหรือปฏิบัติในสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานในหน่วยงานอย่างมีประสิทธิภาพ
รูปแบบการฝึกอบรมการอนุรักษ์พลังงาน
ก่อนที่เราจะรู้จักว่ารูปแบบการฝึกอบรมการอนุรักษ์พลังงาน ที่พอจะใช้ได้ในธุรกิจอุตสาหกรรมมีอะไรบ้าง อยากจะให้ท่านย้อนคิดไปถึงวันที่ท่านเริ่มเข้าทำงานวันแรก หลายท่านคงมีโอกาสได้ผ่านการฟัง “ปฐมนิเทศ” จากผู้บริหารหรือหัวหน้างาน ในการปฐมนิเทศครั้งนั้นอาจจะนาน 3 วัน วันเดียว หรือแค่ 20 นาที เป็นการให้ข้อมูลที่เจ้าหน้าที่ทำงานใหม่ควรทราบ เช่น เป้าหมายของหน่วยงาน นโยบายของหน่วยงาน กฎระเบียบ สถานที่ และแนะนำเจ้าหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้อง การฝึกอบรมแก่เจ้าหน้าที่ใหม่ แม้ว่าจะไม่ได้ทำแบบมืออาชีพทำก็ตาม ก็ยังดีกว่าการปล่อยให้เจ้าหน้าที่ใหม่เริ่มทำงานเลยทันที หรือปล่อยให้เจ้าหน้าที่นั้นรอคอยเคว้งคว้างเพราะไม่รู้จะเริ่มอย่างไรดี การทำอย่างนั้นอาจจะสูญเสียเจ้าหน้าที่หรือพนักงานดีๆไปได้ในไม่ช้า เช่นเดียวกันกับการเข้าร่วมโครงการอนุรักษ์พลังงาน การจัดให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้ารับการทำความเข้าใจในวัตถุประสงค์ของโครงการ ในการเข้าร่วมการอนุรักษ์พลังงานขององค์กร โดยให้ที่ปรึกษาที่เข้าไปในหน่วยงานจัดการปฐมนิเทศชี้แจงการทำงานและเปิดใจในการให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องแก่ที่ปรึกษา ทำให้ผู้บริหาร ที่ปรึกษา และพนักงานที่เกี่ยวข้อง เข้าใจในหลักการและขั้นตอน รวมทั้งผลที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการอนุรักษ์พลังงานด้วย การฝึกอบรมมีด้วยกันหลายรูปแบบดังนี้
1.) ตัวต่อตัว  เป็นรูปแบบการฝึกอบรมที่ใช้กันแพร่หลายมากที่สุด อย่างที่เรียกกันว่า แบบพี่เลี้ยงน้อง หรือแบบประกบ เป็นต้น ซึ่งดูไปก็ไม่ใช่รูปแบบการฝึกอบรมที่ยากเย็นอะไร แต่การจะฝึกอบรมแบบนี้ ให้ได้ผลก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะผู้ฝึกอบรมหรือพี่เลี้ยงจะต้องเตรียมการอย่างดีด้วย
ข้อแนะนำ หากใช้วิธีฝึกอบรมแบบนี้ ควรจัดให้มีการติดตามนิเทศงานในภายหลังการฝึกอบรมด้วยเพื่อแก้ไขข้อด้อยที่เกิดขึ้นเพราะพี่เลี้ยงในระหว่างการฝึกอบรม
2.) กลุ่มไม่เป็นทางการ  เป็นรูปแบบ พี่เลี้ยงหรือประกบ เป็นแบบผู้รับการอบรมมีมากกว่า 1 คน ดังนั้นผู้ที่เป็นพี่เลี้ยงจึงต้องใช้เทคนิคการฝึกอบรมปลีกย่อยๆ อื่นๆ ประกอบไปด้วย แทนที่จะทำงานไป สอนกันไป อาจจะต้องมีการบรรยาย การสาธิต (ทำให้ดู) การถามตอบ ซึ่งหมายความว่าคนที่เป็นพี่เลี้ยงต้องเป็นผู้มีฝีมือคนหนึ่งทีเดียว จึงจะฝึกอบรมแบบนี้ได้ อย่างไรก็ตามการฝึกอบรมแบบนี้ยังสามารถทำในระหว่างการปฏิบัติงานได้ เช่น การฝึกการตรวจวัดพลังงานเบื้องต้นในหน่วยงาน หรือการปรับแต่งเครื่องจักรให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเป็นต้น
3. ประชุมฝึกอบรมอย่างเป็นทางการ  เป็นการฝึกอบรมเป็นหมู่คณะ มีกำหนดการและหลักสูตรที่แน่นอน อาจเป็นการประชุมฝึกอบรมในหน่วยงานนั้นหรือที่อื่น และอาจให้เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานนั้นเป็นผู้ฝึกอบรม หรือไม่ก็เชิญผู้มีประสบการณ์และผู้ทรงคุณวุฒิมาทำการฝึกอบรมให้ ทั้งผู้รับการอบรมจะถูกแยกตัวออกมาจากงานในหน้าที่ที่ทำอยู่ในหน่วยงานระยะหนึ่ง เช่น การอบรมผู้รับผิดชอบพลังงานของ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) หรือการฝึกอบรมผู้จัดการพลังงานของ โครงการอนุรักษ์พลังงานภาคอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นต้น
4. ชุดฝึกอบรมด้วยตนเอง  เป็นรูปแบบการฝึกอบรมที่ยังใหม่มาก และยังไม่แพร่หลายในประเทศไทยเพิ่งเริ่มมีเพียงไม่กี่อย่าง เช่น การฝึกอบรมทำบัญชีด้วยตนเอง ฝึกภาษาอังกฤษด้วยตนเอง ฝึกบันทึกข้อมูลพลังงานด้วยตนเอง ในชุดฝึกอบรมอาจประกอบไปด้วย เอกสารหรือหนังสือ เทป วีดีโอ แผ่นโปรแกรมแบบฟอร์ม เป็นต้น
* อย่าคาดหวังว่าการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีจะเกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด หากเขาปฏิบัติไม่ถูกต้องมาเป็นเวลานานจนเป็นนิสัย สิ่งนั้นย่อมต้องการ “เวลา”
จากแผนภาพ เราจะเห็นได้ว่าในขั้นตอนแรกนั้นเราจะต้องรู้ให้ได้ก่อนว่า พนักงานของเรานั้นมีทัศนคติเช่นไร ต่อการอนุรักษ์พลังงานในหน่วยงาน มีการต่อต้านหรือสนับสนุนหรือไม่ อาจจะทำได้โดยสังเกตวิธีการปฏิบัติงานว่าเขาทำงานอย่างไร หรือทำการศึกษากระบวนการทำงานว่า เกิดการประหยัดพลังงานหรือวัตถุดิบในขั้นตอนการผลิตโดยทำการใช้อย่างสิ้นเปลืองหรือไม่ เช่น การปล่อยให้เครื่องจักรเดินตัวเปล่าเป็นเวลานานโดยไม่ก่อให้เกิดงานหรือการตัดเหล็กตามขนาดที่ต้องการ 1 เส้น โดยเลือกใช้เหล็กท่อนใหม่ตัด แทนที่จะเลือกหาจากท่อนเหล็กที่ตัดเหลือจากการตัดครั้งที่แล้ว ที่มีขนาดใกล้เคียงกับความต้องการ เหล่านี้เป็นต้น จะต้องรู้ให้ได้ว่า พนักงานของเรามีความรู้ในการที่จะปฏิบัติงานอย่างถูกวิธีหรือไม่ และพวกเขาเห็นความสำคัญของการปฏิบัติงานที่ถูกต้องหรือเปล่า เป็นต้น
จากตัวอย่าง แสดงให้เห็นว่าเขามีวิธีการทำงานอย่างไม่ถูกต้องและไม่มีจิตสำนึกในการช่วยกันประหยัดพลังงาน รวมทั้งทำให้เกิดของเสียมากมายตามมาภายหลัง อย่างนี้แสดงให้เห็นว่า พนักงานเกิดปัญหาในด้านทัศนคติและจิตสำนึกในการปฏิบัติงานอย่างถูกวิธี หรือทำงานไม่เกิดการอนุรักษ์พลังงาน ดังนั้น ในขั้นตอนต่อไปจึงควรหาวิธีแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยในขั้นแรกควรจะตรวจสอบความถนัดในการทำงานของพนักงานคนนั้นว่า เขามีความถนัดในงานของเขาหรือเหมาะกับงานๆนั้นหรือไม่ ถ้าไม่เหมาะสมควรจะทำการเปลี่ยนตำแหน่งงานหรือมอบหมายงานที่เขาสามารถทำได้ดีและมีความถนัดมากกว่าให้กับเขาเสียใหม่ แต่ถ้าเขามีความถนัดหรือเหมาะสมกับตำแหน่งงานนั้นแล้ว ก็ควรที่จะส่งเขาไปอบรมเพิ่มเติม เกี่ยวกับจิตสำนึกในการอนุรักษ์พลังงานหรือขั้นตอนที่ถูกต้องในการทำงานต่อไป
อีกวิธีหนึ่งคือ การให้รางวัลเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการประหยัดพลังงานหรือปฏิบัติงานอย่างถูกต้อง โดยอาจจะทำการเรียกประชุมชี้แจงการทำงานของบริษัท และจัดทำเป็นนโยบายแล้วประกาศว่าถ้าหากพนักงานทำการช่วยให้บริษัทสามารถลดต้นทุนทางด้านพลังงานและทำการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว บริษัทจะจัดสรรเงินที่ประหยัดได้เป็นเงินสวัสดิการของพนักงานเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดขวัญและกำลังใจที่จะช่วยกันประหยัดมากขึ้น เป็นต้น
หรืออีกวิธี โดยการทำให้พนักงานรู้และเห็นความสำคัญของการประหยัดพลังงานโดยการรณรงค์ภายในองค์กรและชี้ให้เห็นว่า การใช้พลังงานอย่างไม่ถูกต้องและสิ้นเปลืองนั้น ก่อให้เกิดผลกระทำอย่างไรต่อพวกเขาบ้างในชีวิตประจำวัน และสิ่งแวดล้อมรอบตัวเขา อีกทั้งทำให้ลูกหลานของพวกเขาจะไม่มีพลังงานใช้อย่างเพียงพอต่อไปในอนาคต เนื่องจากพลังงานฟอสซิลที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน จะเหลือน้อยลงและหมดไปในอนาคต
และเมื่อพนักงานเห็นความสำคัญต่อการอนุรักษ์พลังงานแล้ว ที่ปรึกษาที่เข้าไปให้การแนะนำในการอนุรักษ์พลังงานภายในองค์กร ก็จะสามารถเข้าไปช่วยเสริมโดยการเข้าไปอบรมให้ความรู้ในการอนุรักษ์พลังงานอย่างถูกวิธีภายในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และก่อให้เกิดผลสำเร็จในการเข้าร่วมโครงการอนุรักษ์พลังงานต่อไป
สรุป
การปลูกฝังจิตสำนึกการประหยัดหรือการอนุรักษ์พลังงานภายในองค์กรนั้น ทุกองค์กรสามารถทำได้โดยไม่ยาก ถ้าหากรู้และเข้าใจในกระบวนการถ่ายทอด หรือวิธีที่จะทำการอบรมพนักงานให้เกิดจิตสำนึกได้อย่างถูกต้องแล้วละก็ จะสามารถทำให้การเข้าร่วมโครงการอนุรักษ์พลังงานกับหน่วยงานของภาครัฐประสบความสำเร็จได้มากขึ้นและช่วยให้องค์กรเกิดการพัฒนาการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน รวมทั้งช่วยให้ชาติประหยัดการนำเข้าพลังงานต่อไปได้ในอนาคต

อ้างอิง
http://www.ryt9.com/s/ryt9/161016